ใจหยุดที่สุดแห่งบุญ

วันที่ 04 พค. พ.ศ.2567

040567b01.jpg
 

ใจหยุดที่สุดแห่งบุญ
๑ มกราคม ๒๕๓๘
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                  ต่อจากนี้ให้ทุกท่านนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน ให้ทุกคนนั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายคล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่าไปกดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ นะจ๊ะ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ตรงนี้สำคัญนะ อย่าดูเบานะจ๊ะในการหลับตาเนี่ย ถ้าหากเราไปบีบหัวตา ไปกดลูกนัยน์ตา จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณแถว ๆ นั้นมันเกร็งหรือมันเครียด ซึ่งจะทำให้เสียผลในการปฏิบัติต่อไป 

 


                เพราะฉะนั้นหลับตาต้องเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเราปรือตา หลับไม่สนิท หรือคล้ายกับหลับซักครึ่งลูกนัยน์ตา พอสบาย ๆ คล้ายกับนอนหลับนะจ๊ะ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย หลับพอสบาย ๆ ขยับเนื้อขยับตัวกะคะเนให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวกนะจ๊ะ ทุก ๆ คนแล้วก็ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส เพื่อจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัย รองรับบุญกุศลซึ่งจะเกิดขึ้นในวันนี้ การชำระกายวาจาใจเพื่อให้ใจเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัยและบุญกุศล

 


                ทางลัดที่ไม่มีอะไรลัดยิ่งไปกว่านี้ก็คือการทำใจของเราให้หยุดนิ่งนั่นเอง หยุดนิ่งอยู่ภายใน ใจหยุดอยู่ภายในเมื่อไหร่ ความบริสุทธิ์ในเบื้องต้นจะบังเกิดขึ้นในกลางหยุดในกลางนิ่งนี้ ความบริสุทธิ์ในเบื้องต้นนั้นเราจะเห็นชัดเจนทีเดียว จะมีลักษณะแห่งความบริสุทธิ์ในเบื้องต้นนั้น เป็นจุดสว่าง อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศอย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน จะขนาดไหนก็ตาม เมื่อบังเกิดขึ้นตรงที่ใจหยุดนั่นแหละคือความบริสุทธิ์เบื้องต้น ซึ่งจะเป็นประดุจภาชนะที่จะรองรับบุญกุศล ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องนำใจของเราให้หลุดพ้นจากความสับสนวุ่นวายต่าง ๆ ทั้งหมด เครื่องกังวลทั้งปวง ให้หยุดนิ่งอยู่ภายในตรงกึ่งกลางกายของเราตรงฐานที่ ๗ 

 


                สำหรับท่านที่มาใหม่ที่ยังไม่รู้จักว่าฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงไหนนั้น ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ ฐานที่ ๑ นั้นอยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตาตรงจุดที่น้ำตาไหล ท่านหญิงอยู่ข้างซ้ายท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปากช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้องของเราในระดับเดียวกับสะดือของเรา สมมติเราขึงเส้นด้าย ๒ เส้นจากหน้าทะลุหลังเส้นหนึ่ง ขวาทะลุซ้ายไปอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือนั่นแหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 


                เพราะฉะนั้นสำหรับท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ ถ้าหลวงพ่อพูดถึงฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะจ๊ะ เส้นด้ายทั้ง ๒ ที่ขึงจากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย ตัดกันเป็นกากบาท สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือน่ะ นั่นคือฐานที่ ๗ นี่ให้เข้าใจไว้นะจ๊ะ ฐานที่ ๗ นี้สำคัญมากต้องจำเอาไว้ให้ดีทีเดียว จะลืมอะไรก็ลืมเถอะแต่อย่าลืมฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้สำคัญ สำคัญมาก ๆ ประการแรกตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ เป็นที่ไปเกิดและมาเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งตัวของเราเอง เป็นที่ไปเกิดเป็นที่มาเกิด มาเกิดก็เริ่มต้นจากฐานที่ ๑ แล้วมาอยู่ที่ฐานที่ ๗  

 


                โดยเริ่มต้นจากกายละเอียดของตัวเราน่ะ กายทิพย์ตัวเรา เข้าทางปากช่องจมูกของบิดาไปตามฐานต่าง ๆ แล้วก็ไปหยุดอยู่ตรงฐานที่ ๗ ของบิดา อยู่ตรงนั้นไม่กำหนดวันเวลา แล้วก็บังคับบิดาให้ไปหามารดา เพื่อประกอบธาตุธรรมหยาบ ส่วนหยาบ เมื่อประกอบกันถูกส่วน กายละเอียดก็เคลื่อนออกไป ไปตามฐานต่าง ๆ ของบิดาเข้าสู่ฐานต่างๆ ของมารดา ตั้งแต่ปากช่องจมูกเรื่อยไปเลยจนกระทั่งไปหยุดที่ฐานที่ ๗ ของมารดา หยุดพร้อมกับธาตุธรรมที่ประกอบกับของบิดามารดา พร้อม ๆ กันไม่ก่อนไม่หลังกันเลย บิดามารดาและก็ตัวของเราที่เป็นกายละเอียดเข้ามา เริ่มก่อตัวตั้งแต่เป็นจุดเล็ก ๆ ใส ๆ ที่เรียกว่ากลละรูป แล้วเจริญเติบโตด้วยอาหารจากมารดาหล่อเลี้ยง จนกระทั่งเจริญเติบโต นี่เรียกว่ามาเกิด 

 


                ส่วนไปเกิดนั้นสวนทางกัน ไปเกิดก็คือเวลาเราจะถอดกาย จากกายหยาบของเรานี้น่ะ ใจของเราจะกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ของตัวเรา แล้วก็ถอยไปถึงฐานที่ ๖ เรื่อยไปเลย จนกระทั่งออกไปที่ฐานที่ ๑ แล้วก็ไปแสวงหาที่เกิดใหม่ นี่เรียกว่าไปเกิด เพราะฉะนั้นไปเกิดมาเกิดเริ่มตรงที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากว่าไม่อยากจะไปเกิดและก็ไม่อยากจะมาเกิด ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายแสวงหาหนทางอย่างนั้น เพราะท่านเห็นว่าการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นทุกข์ 

 


                ชีวิตนั้นเป็นทุกข์มีความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย ท่านก็จะแสวงหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ ในที่สุดท่านก็ค้นพบว่าก็เริ่มต้นตรงฐานที่ ๗ อีกนั่นเอง แต่ว่าเดินในเข้าไปเรื่อย ๆ โดยการทำใจให้หยุดนิ่งเข้าไปเรื่อย ๆ ให้ใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนั้น ท่านหยุดอย่างเดียวไม่ได้ทำอะไรเลย หยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น พอถูกส่วนเข้าก็เห็นหนทาง เห็นหนทางที่จะดำเนินจิตต่อไป หนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนะนิพพาน ปรากฏขึ้นมาในกลางหยุดกลางนิ่งตรงฐานที่ ๗ ตรงนั้น เป็นดวงสว่าง อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน บังเกิดขึ้นที่กลางหยุดกลางนิ่งตรงฐานที่ ๗ นั้นน่ะ 

 


                แล้วก็ท่านก็ทำหยุดทำนิ่งต่อไปไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย หยุดกับนิ่งอย่างเดียว พอหยุดถูกส่วนก็เห็นไปตามลำดับ เห็นเข้าไปเรื่อย ๆ เลยเห็นกายในกายเห็นจิตในจิต เห็นเวทนาในเวทนา เห็นธรรมในธรรม เห็นกายในกายนี่ท่านเห็นกายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมโคตรภูซ้อนอยู่ในกลางกายอรูปพรหม กายธรรมพระโสดาบันซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระสกิทาคามีซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระอนาคามีซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอรหัตซ้อนอยู่ในกลางกายธรรมพระอนาคามี ซ้อนกันเข้าไปอย่างนี้ 

 


                กายที่ละเอียดกว่าก็อยู่ในเข้าไปเรื่อย หยุดลึกซึ่งเข้าไปเรื่อย เห็นกายตรงไหนก็มีเวทนาที่นั่น มีจิตมีธรรมอยู่ที่ตรงนั้นพร้อม ๆ กันไปเลย แต่ว่าคนละส่วนกันคนละส่วนกัน ซ้อนกันอยู่ในแต่ละกาย ก็มีจิตมีเวทนามีธรรม ซ้อน ๆ ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ กายที่เป็นเป้าหมายสำหรับท่านก็คือกายธรรมอรหัต เพราะว่าเป็นกายที่หลุดพ้นจากกิเลส จากอาสวะทั้งมวล เป็นกายที่ละเอียดที่สุด หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ กายต่าง ๆ เหล่านี้มีอยู่ในกายมนุษย์หยาบนี้เอง ทุกชาติทุกภาษามีอย่างนี้เหมือนกันไปหมด เป็นแผนผังของชีวิต เพราะฉะนั้นเป้าหมายของการเกิดมา ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะมุ่งให้ ไปถึงกายธรรมอรหัตนั่นเอง ถ้ายังไปไม่ถึงก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีก เวียนทำหยุดทำนิ่งเวียนสร้างบารมีกันไปจนกว่า จะไปถึงที่สุดคือกายธรรมอรหัต 

 


                เพราะฉะนั้นกายธรรมอรหัตนี้จึงเป็นเป้าหมายของพวกเราทุก ๆ คนนะจ๊ะ เมื่อเราได้ทราบอย่างนี้ว่ากายต่าง ๆ นั้นเป็นแผนผังของชีวิตของเรา กายธรรมอรหัตเป็นเป้าหมาย และกายต่าง ๆ นั้นซ้อนอยู่ภายในกลางกายของเราตรงฐานที่ ๗ แต่ว่าละเอียดกันเข้าไปตามลำดับ วิธีการเข้าถึงมีอยู่วิธีเดียวคือการทำใจให้หยุดให้นิ่งอย่างเดียวเท่านั้น หยุดนิ่งอย่างเดียว หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ ผิดจากหยุดจากนิ่งแล้วไม่สำเร็จในการที่จะบรรลุธรรมบรรลุกายเข้าไปต่าง ๆ เหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ขอให้ทุกท่านได้ตั้งใจ ทำใจให้หยุดให้นิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นะจ๊ะ 


 

                ทำใจให้หยุดให้นิ่งให้ดีทีเดียว วิธีทำใจให้หยุดให้นิ่งนั้นมีวิธีทำง่าย ๆ อย่างนี้ คือเราจะต้องไม่คาดหวังว่าเราจะต้องได้ความสงบ เราจะต้องเห็นนั่นเห็นนี่ ได้นั่น ได้นี่ หรือเป็นนั่นเป็นนี่ เราเป็นแค่เพียงทำใจให้หยุดให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม อย่างละเอียดอ่อนเท่านั้นเอง ให้ใจนิ่งๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบาย ๆ น่ะ ทำใจเย็น ๆ แค่ทำความรู้สึกว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้เนี่ย เป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งพระรัตนตรัยน่ะ เป็นทางไปสู่อายตนะนิพพานของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย เรานึกคิดเพียงแค่นี้แล้วก็วางใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ 

 


                แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม ให้ทำใจให้นิ่ง ๆ ให้หยุดนิ่ง นิ่งอย่างนุ่ม ๆ ละมุนละไม อย่าไปตั้งใจเกินไปนะจ๊ะ ให้ใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบาย ละเอียดอ่อนอยู่ตรงนั้นน่ะ ตรงที่เรามีความมั่นใจว่าตรงนี้คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พูดง่าย ๆ ก็คืออยู่ในกลางท้องไปก่อน เราเข้าใจมีความมั่นใจตรงนี้แหละ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็อย่ากังวลเกินไป แม้ว่าเราจะทราบว่าฐานที่ ๗ นี่สำคัญมาก เป็นทางไปสู่อายตนะนิพพาน ก็อย่ากังวลเกินไปว่าเราได้วางใจถูกฐานที่ ๗ แล้วหรือยัง อย่าถึงกับกังวลมากเกินไปนะจ๊ะ ให้เรามีความรู้สึกว่าตรงนั้นแหละคือฐานที่ ๗ แค่นี้ไปก่อน แล้วก็วางใจให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบายเนี่ย ทำอย่างนี้นะจ๊ะ

 


                ถ้าใครอดที่จะฟุ้งไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ คือพยายามที่จะไม่ให้คิดเรื่องอื่น มันก็อดไม่ได้ จะใช้วิธีนึกอย่างนี้ก็ได้นะจ๊ะ นึกว่าตรงที่เรามีความมั่นใจว่าตรงนี้เป็นฐานที่ ๗ มีดวงแก้วใส ๆ หรือพระแก้วใสๆ ซักองค์หนึ่งนั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางกายของเรา กลางท้องของเรา หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา จะนึกเป็นองค์พระก็ได้ ถ้าเรากลัวฟุ้ง หรือจะนึกเป็นดวงแก้วใส ๆ ก็ได้ แต่ว่าวิธีการนึกนั้นต้องนึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่างธรรมดา นึกธรรมดา ๆ เหมือนเรานึกถึงดอกกุหลาบ นึกถึงดอกบัวอะไรอย่างนั้น หรือนึกถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว น้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า ให้นึกอย่างธรรมดาอย่างนั้นนะจ๊ะ 

 


                อย่าไปตั้งใจนึกมากเกินไป ถ้าตั้งใจนึกมากเกินไปแล้วมันจะตึง แล้วมันจะเครียด หน้าท้องจะเกร็ง นิ้วจะยกไหล่ยก คิ้วจะขมวดเข้าหากัน และก็ไม่ได้ผลหรอกเพราะว่ามันผิดวิธี อย่าฝืนดันทุรังทำต่อไปนะจ๊ะ เราจะต้องนึกอย่างนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบาย นึกอย่างสบาย ๆ สบายนี่เราก็รู้ตัวของเราเองว่าแค่นี้มันสบายน่ะ คือมันไม่ปวดศีรษะ ไม่เกร็งกล้ามเนื้อ และมันก็ไม่เผลอไปคิดเรื่องอื่น มันจะนิ่งอยู่ที่ตรงนั้น ถ้านึกดวงแก้วใจก็จะอยู่ที่กลางดวงแก้ว จะตรึกนึกถึงแต่ความใส ใจจะหยุดอยู่ที่กลางความใสของดวงแก้ว หรือว่าพระแก้วใส ๆ จะอยู่ที่ตรงนั้น

 


                แต่ถ้าหากบางท่านนึกอย่างนี้แล้ว มันก็ยังมีความคิดผ่านเข้ามาในใจ เราก็อาจจะต้องใช้คำภาวนาประกอบไปอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ใจของเรามาเกาะอยู่ที่คำภาวนา และก็นิมิตดวงแก้วใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ นะจ๊ะ คือเราจะต้องภาวนาประกอบไปด้วยอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ เราสวดมนต์ในใจอย่างนั้นน่ะ โดยให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากกึ่งกลางกายของเรา ออกมาจากกลางท้องหรือออกมาจากกลางดวงแก้วหรือองค์พระ ให้เสียงที่ดังออกมานั้นน่ะเป็นเสียงเหมือนสวดมนต์ในใจที่เบา ๆ ละเอียดอ่อน ว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาสัมมาอะระหัง พร้อมกับนึกถึงนิมิตที่เราชอบ จะเป็นดวงแก้วหรือจะเป็นองค์พระก็ได้นะจ๊ะ เราจะภาวนาไปแค่ แค่ที่เราชอบน่ะ อยากจะภาวนาแค่นี้แล้วเลิกภาวนาก็ได้ อยากจะหยุดภาวนาตอนไหนก็ได้ 

 


                เมื่อเราสังเกตว่าใจของเรานั้นเริ่มสงบเริ่มหยุดเริ่มนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ แล้วน่ะ เราจะหยุดคำภาวนาตอนนั้นก็ได้ หรือในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ นั้น คำภาวนามันจะเลือนหายไปเองเมื่อใจของเราค่อย ๆ ละเอียดลงไปน่ะ มันจะค่อย ๆ หายไป แล้วในที่สุดใจของเราก็จะหยุดนิ่ง พอถึงตรงนี้ รักษาตรงนี้ไว้ให้ดีนะจ๊ะ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบายน่ะ รักษาตรงนี้เอาไว้ ถ้าหากเรารักษาได้ตลอด ไม่ช้าความรู้สึกของเราจะขยายกว้างออกไปน่ะ จะรู้สึกโล่ง ใจจะโล่ง ใจจะโปร่ง ใจจะเบาเหมือนตัวเราจะลอยได้ หรือความรู้สึกเหมือนตัวเราพองโต ขยายออกไป ใหญ่กว่าตัวของเรา คล้ายกับตัวของเรานั้นเป็นฟองแชมพูหรือฟองสบู่หรือลูกโป่งที่เค้าอัดลมเข้าไปแล้วมันพองขึ้น แต่ว่ามันนุ่มนวลกว่านั้น มันพองขยายออกไปน่ะ ขยายไปเรื่อย ๆ เลยเนี่ย

 


                โล่ง โปร่ง เบา สบาย สบายจนกระทั่งเรายอมรับว่านี้คือความสบาย สบายจนกระทั่งเราไม่อยากจะได้อะไรเลยน่ะ แม้ไม่เห็นอะไรก็ตาม อยากจะอยู่กับความสบายตรงนี้ไปนาน ๆ ถ้าถึงตรงนี้สำคัญนะจ๊ะ รักษาตรงนี้ไว้ให้ดี รักษาความสบายให้ต่อเนื่องให้สม่ำเสมอ ความสบายตรงนี้แหละจะนำใจของเราเข้าไปถึงปฐมมรรคภายใน และก็พบกายภายในดังที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่เบื้องต้น ถ้าว่าเรามีอารมณ์โล่ง โปร่ง เบา สบายตัวของเราเริ่มพองขยายกว้างออกไป รักษาตรงนี้ไว้ให้ดีนะ บางท่านขนลุกนั่ง ขนลุกชูชันก็เฉย ๆ ทำเป็นไม่สนใจกันอาการที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราสนใจใจจะขาด แต่ต้องทำประหนึ่งว่าเราไม่สนใจ ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือตัวจะพองก็ดี ขยายก็ดี ตัวเบาก็ดี ตัวยืดขึ้นมาก็ดี ยืดมาติดซาแลนด์ก็ดี หรือย่อติดพื้น หรือยุบวูบลงไปเหมือนตกเหวอะไรอย่างนั้นนะจ๊ะ อย่ากลัว ไม่มีอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น ทำเฉย ๆ กับปรากฏการณ์นั้น 

 


                ทำเหมือนกับผู้ที่เจนโลก ประสบกับเหตุการณ์อะไรก็ไม่ยินดีไม่ยินร้ายอะไรน่ะ ทำใจให้เป็นปกติ หรือบางท่านนิมิตจะบังเกิดขึ้นในตอนนี้เป็นแสงสว่างน้อย ๆ บ้าง แสงสว่างมากบ้าง เป็นดวงแก้วชัดน้อย ๆ บ้าง ชัดมากๆ บ้าง เป็นองค์พระชัดน้อย ๆ บ้าง ชัดมาก ๆ บ้าง จะเป็นอะไรอย่างนี้หรือนอกจากนี้หรือดีกว่านี้ก็ตาม สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปนะจ๊ะ คือทำใจของเราหยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ทำเป็นไม่สนใจสิ่งเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่สนใจใจจะขาด ไม่ต้องไปสังเกตว่ามันมาจากไหน มันอยู่ยังไง ไม่ต้องไปพยายามอยากจะให้มันชัดขึ้นให้ได้ดังใจเรา ชัดเหมือนลืมตาเห็น ไม่ต้องไปพยายามทำอย่างนั้นนะจ๊ะ มีสิ่งที่บังเกิดขึ้นให้เราเห็นแค่ไหน ให้เราสัมผัสรู้ได้แค่ไหน รู้แจ้งแค่ไหน รู้สึกแค่ไหนก็ตาม จะเป็นภาพ จะเป็นความรู้สึกก็ตาม แม้เราจะสนใจใจจะขาด ก็จะต้องทำเป็นไม่สนใจกับสิ่งเหล่านั้น นี่เป็นเทคนิคเป็นเคล็ดลับวิธีที่จะทำให้ใจหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ ๑๐๐ % 

 

                เพราะถ้าหากว่าเราไปสนใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จากการที่เราเริ่มวางใจของเราเป็นแล้ว ทำเป็นแล้วน่ะ มันก็จะทำให้เราติดอยู่แค่นั้น และก็ดีไม่ดีจะถอยหลังหยาบมาเสียอีก คล้ายกับเราตั้งใจจะเดินทางไปเชียงใหม่ แต่ระหว่างทางเรามาถึงอยุธยาก็ดี มีเสียงเชิญชวนเรียกร้องให้เราไปเที่ยวอยุธยา ถ้าเราติดอยู่ที่อยุธยาเราก็ไปไม่ถึงเชียงใหม่ ปรากฏการณ์หรือประสบการณ์ภายในที่เกิดขึ้นจากการวางใจเป็น วางใจถูกต้อง มันจะเกิดขึ้นในตอนนี้ดังกล่าว ที่หลวงพ่อกล่าวมาตั้งแต่ต้นนั่นน่ะ เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน บางคนเกิดขึ้นมาก บางคนเกิดขึ้นน้อย บางคนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนทุกคน 

 


                เพราะฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ถ้าหากเราปรารถนาที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย ปรารถนาที่จะให้ได้ใจหยุดนิ่งได้สมบูรณ์แล้วจะต้องทำอย่างที่หลวงพ่อแนะนำนะจ๊ะ คือทำเป็นไม่สนใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราสนใจใจจะขาด ให้ดูสิ่งเหล่านั้นด้วยใจที่เป็นปกติ อย่าตื่นเต้นยินดียินร้าย ให้ใจเป็นปกติ ดูไปเฉย ๆ มีอะไร ให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องคิดว่าให้มันเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ต้องคิดว่าเอ๊ะนิ่งอย่างนี้แล้วทำไมไม่มีอะไรมาให้ดู หรือว่าเอ๊ะมีให้ดูแล้วแต่ทำไมมันไม่ชัด หรือทำไมมันจะชัดกว่านี้ หรือต่อไปมันจะเป็นยังไง อะไรอย่างนั้นนะจ๊ะ เราจะต้องทําใจของเราให้เป็นปกติ เฉย ๆ กับสิ่งที่มี ที่เรารู้สึกดี รู้แจ้งก็ดีนะจ๊ะ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ไม่ช้าใจของเราก็จะละเอียดเข้าไป เราจะไปพบในสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเลยว่าคนอย่างเรานี่เราจะเข้าไปถึงอย่างนี้ได้อย่างไร

 


                เพราะฉะนั้นเทคนิควิธีที่จะเข้าไปถึงกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ต้องทําด้วยวิธีการดังกล่าวแล้ว หรืออยากจะเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหม หรือกายธรรม อย่างที่เราได้ยินได้ฟังคนโน้นคนนี้เค้าเข้าถึงนั้น จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการเดียวเท่านั้นคือทำใจให้หยุด นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบาย มีความสุขกับการกระทำอย่างนี้ แล้วเราจะเข้าถึงอย่างแน่นอน จะไม่มีวันเด็ดขาดที่จะเข้าถึงได้ถ้าเรามีความอยาก อยากได้ อยากเห็น อยากมี อยากเป็น อยากให้เป็นอย่างที่เค้าเป็นกันน่ะ อยากให้ชัดเจน อยากทุกอย่าง เพราะฉะนั้นมีวิธีการเดียวที่จะเข้าถึงได้ ต้องทำใจให้หยุด นิ่ง นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบายนะจ๊ะ ต้องอย่างนี้นะ  

 


                เข้าใจอย่างนี้แล้วเดี๋ยวเราทดลองทำกันให้ดีนะจ๊ะ ซึ่งหลวงพ่อจะแนะนำไปเป็นช่วง ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบาย อย่ากังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไปน่ะ นิ่งตรงไหน ใจนุ่มตรงไหน เอาตรงนั้นไปก่อนนะจ๊ะ ใจเราชอบตรงไหนเอาตรงนั้นไปก่อน แล้วรักษาอารมณ์สบายให้ต่อเนื่องกัน นิ่ง ๆ ทำตามนะจ๊ะ นุ่ม ๆ ละมุนละไมสบาย ทำใจให้สบาย โดยเฉพาะเรากำลังมาแสวงบุญ เรากำลังมาแสวงบุญ กำลังมาทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่เรากำลังมาทำอยู่นี่ ใจหยุดคือที่สุดแห่งบุญ ใจหยุดคือที่สุดแห่งบุญ จะให้ทานก็ดี จะรักษาศีลก็ดี จะเจริญภาวนาก็ดี ถ้าอยากให้ได้อานิสงส์มาก มีทางลัดอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ ใจหยุด ทำใจให้หยุด ใจหยุดคือที่สุดแห่งบุญจะไปถึงที่สุดแห่งธรรมได้ ต้องใจหยุด หยุดคือทุกสิ่ง หยุดเป็นตัวสำเร็จ ทำดูนะจ๊ะ ทำใจให้หยุดนิ่ง ให้สบายนะ หลับตาเบา ๆ นะ ปรือ ๆ ตา ปรือนิด ๆ ปรือ ๆ เบา ๆ อย่าไปตั้งใจมาก ให้นิ่ง ๆ สบายเนี้ยะ รักษาอารมณ์สบาย นิ่ง ๆ นุ่มๆ ละมุนละไม นะจ๊ะ ทำกันไป ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ 

 


                 เราก็หลับตาเอาใจของเราหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหมือนเดิมอย่างสบาย ๆ อย่าลืมคำนี้นะจ๊ะ อย่างสบาย ๆ ให้ใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม ทำอย่างนี้ไปก่อนแม้ว่ายังไม่มีอะไรมาให้ดู จะเป็นแสงสว่างก็ดี ดวงธรรมก็ดี กายภายในก็ดี อย่าตกใจ อย่ารำคาญใจ อย่าท้อใจ อย่าวิตกกังวลนะจ๊ะ ให้เริ่มต้นให้ถูกวิธีอย่างนี้ไปก่อนไม่ช้าเราจะเข้าถึงในสิ่งที่เราอยากจะเข้าถึงอย่างสบาย ๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึงเลย เพราะการที่จะเข้าถึงนั้นจะต้องได้อารมณ์สบาย ความรู้อันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าจะต้องบังเกิดขึ้นพร้อมกับความสุข เป็นความรู้คู่ความสุข ความรู้คู่กับความบริสุทธิ์ มันจะต้องไปพร้อม ๆ กันนะจ๊ะ ความรู้คู่ความสุข ความรู้คู่กับความบริสุทธิ์ ความรู้คู่กับพลังใจที่เข้มแข็ง ถ้าหากเราเริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่าต้องบังคับ ต้องเกร็ง ต้องกดกัน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง 

 


                เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นอย่างสบาย ๆ เดี๋ยวได้เองนะจ๊ะอย่าใจร้อน อย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนใจไป ขอให้ทำให้ถูกวิธีแล้วก็ทำให้สม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน อย่าให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว ไม่ช้าเราจะต้องสมหวังเพราะว่าความละเอียดของใจสมาธิก็ดี เราจะต้องให้เวลากับตัวของเราเอง ค่อย ๆ สั่งสมไปทีละนิดทีละน้อย ทีละน้อย เรื่อย ๆ ไป ไม่ช้าเราจะสมหวัง ถ้าเราสมัครใจที่จะได้ สมัครใจที่จะเข้าถึง เต็มใจที่จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง อยากจะรู้แจ้งอย่างแท้จริงนั่นแหละ เราจะสมหวัง เพราะฉะนั้นเริ่มต้นให้ถูกวิธีก่อนนะจ๊ะ ซึ่งดูเหมือนมันจะช้า ไม่ค่อยทันอกทันใจเราเลยแต่จริง ๆ แล้ว เร็ว

 

                เพราะวิธีการเดินทางเข้าไปสู่ภายใน กับวิธีการเดินทางภายนอกนั้นมันแตกต่างกัน วิธีการเดินทางภายนอก อยากจะถึงที่หมายให้รวดเร็วต้องเหยียบคันเร่งกันให้มิดไปเลยน่ะ มันถึงจะถึงที่หมายอย่างรวดเร็ว แต่เส้นทางสายกลางภายใน ซึ่งไปที่สุดที่อายตนะนิพพานนั้น อยากจะไปให้ถึงเร็วต้องหยุด ต้องค่อย ๆ ช้าลง ๆ จนกระทั่งหยุดนิ่งสนิทสมบูรณ์ ๑๐๐ % แล้วเดี๋ยวเราก็จะได้เข้าถึงความสว่าง จุดสว่าง ดวงธรรมซึ่งมีอยู่แล้ว ไม่ใช่เราไปทำให้มันมีเกิดขึ้น กายภายใน กายตรัสรู้ธรรมหรือพระธรรมกายซึ่งเป็นสรณะที่แท้จริง สรณะอันสูงสุดของเรา เราจะเข้าถึงเองในภายหลังนะจ๊ะ

 


                เพราะฉะนั้นวิธีการที่ถูกต้องนำไปสู่ประสบการณ์ที่สมบูรณ์ เริ่มต้นให้ถูกซะก่อน ตั้งแต่ท่านั่ง ตั้งแต่การวางใจ แล้วค่อยเป็นค่อยไปนะจ๊ะ เดี๋ยวเราจะสมหวังอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลย เราจะเป็นเจ้าของความสุขที่แท้จริงที่เราปรารถนามาตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ทีเดียว ความสุขที่แท้จริงนั้นจะอยู่ในกำมือของเราทีเดียว ถ้าทำถูกวิธีนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นตั้งใจมากเกินไป บังคับใจเราก็ดี เป็นวิธีที่ผิดอย่าไปทำนะจ๊ะ ต้องวางใจสบาย ให้หยุด ให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไมประสบการณ์ภายในให้ค่อย ๆ พัฒนากันไป เดี๋ยวเราจะสมหวัง ตอนนี้ให้ทุกท่านใจที่ยังหยุดอยู่ในกลางนั่นน่ะ ให้หยุดนิ่ง ๆ อย่างสงบ สบาย เบา ๆ นะจ๊ะ 

        


                ใครที่ยังเข้าไม่ถึงแสงสว่าง หรือดวงธรรมหรือกายภายในหรือพระธรรมกาย ก็เอาใจหยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่ตรงนั้นอย่างสบาย ๆ ส่งใจของเราให้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ใจนิ่งประดุจนั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ท่านเลย ส่วนใครที่เข้าถึงแสงสว่างภายใน จะสว่างมากหรือน้อยก็ตาม ก็เอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนั้น ที่เดิม ทำด้วยวิธีการเดิมอย่างนั้นแหละ ใครเข้าถึงดวงธรรมตั้งแต่จุดสว่างเล็ก ๆ เหมือนดวงดาวในอากาศที่เราลืมตามองดูบนท้องฟ้าในเวลายามราตรีน่ะ คล้ายดาวพระศุกร์อย่างนั้นน่ะ ก็เอาใจหยุดตรงนั้น ใครเห็นโตใหญ่กว่านั้นก็หยุดไปตรงกลางในจุดที่เห็น เห็นดวงธรรมหยุดไปในกลางดวงธรรม เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดไปในกลางกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ก็หยุดไปในกลางกายทิพย์ เข้าถึงกายรูปพรหมก็หยุดไปในกลางกายรูปพรหม เข้าถึงกายอรูปพรหมก็หยุดไปในกลางกายอรูปพรหม เข้าถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดไปในกลางกายธรรมนะจ๊ะทุก ๆ คน แล้วก็หยุดในหยุด 

 


                หยุดในหยุดคือหยุดแล้วก็หยุดลงไปอีกอย่างสบาย ๆ แต่ถ้าว่าหยุดในหยุดนี้ ไม่ใช่หมายถึงว่าหยุดแบบกด ๆ อย่างนั้นนะ เราก็นิ่งเฉย ๆ อย่างนั้นน่ะทีเดียว คือให้มันหยุดหยุดจริง ๆ ความหมายหมายความว่าอย่างนั้น แต่ผู้ที่เค้าเข้าถึงกายต่าง ๆ แล้วเค้าจะเข้าใจคำว่าหยุดในหยุด คือมันจะมีหยุดที่ละเอียดกว่านั้น คือนิ่ง นิ่งแน่น นิ่งเข้าไปเรื่อย ๆ นิ่งในนิ่ง แน่นในแน่น เข้าไปเรื่อยเลย คือนิ่งเข้าไปเรื่อย ๆ ใจมันก็หลุดร่อนวูบเข้าไปเรื่อย ๆ เลย เข้าถึงกายธรรมก็จะวูบเข้าไปในกลางกายธรรม สงบนิ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่าน สบายสบาย มีความสุข ยิ่งหยุดเข้าไปก็มีองค์ใหม่ผุดซ้อนขึ้นมา เราก็เป็นองค์นั้นเนี่ยนะเค้าเรียกว่าหยุดในหยุด หยุดในหยุด หยุดเป็นตัวสำเร็จอย่างนี้แหละ ไม่ต้องไปนึกไปคิดอะไรเลย เพราะความรู้ภายในเกิดจากการเห็นแจ้ง เห็นไปถึงไหนมันก็รู้ไปถึงนั่น เห็นได้เพราะว่ามันสว่าง 

 


                สว่างได้เพราะหยุด หยุดจึงสว่าง สว่างจะเห็น เห็นจึงรู้ ไม่ต้องไปนึกไปคิดอะไรเลยน่ะ พอรู้ก็เข้าใจทั่วถึงหมดเลย มันแปลก แปลกกว่าทางข้างนอก ข้างนอกจะรู้ได้ก็ต้องคิดต้องอ่าน ต้องฟัง ต้องคุยกัน ถูกกันอย่างนั้น หาเหตุหาผลกันไป ความรู้นั้นก็ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง แต่ความรู้แจ้งภายในนั้นต้องเกิดจากการหยุดอย่างเดียว หยุดจึงสว่าง สว่างจึงเห็น เห็นจึงรู้ รู้จึงหลุด มันก็เป็นไปตามลำดับอย่างนี้นะจ๊ะ เพราะฉะนั้นตอนนี้ทำใจให้หยุดนิ่ง เฉย ๆ สบ๊ายสบายนะจ๊ะ ทำให้ใจนิ่ง ๆ อย่าไปสนใจสิ่งแวดล้อม ให้สนใจตรงกลาง สิ่งแวดล้อมปกติของมันก็เป็นของมันอย่างนี้น่ะ อากาศก็อบอุ่นธรรมดาอย่างนี้ ใจให้หยุดนิ่งตอนนี้ คุณยายก็น้อมขึ้นเครื่องไทยธรรมทั้งหมด ทับทวีขึ้นไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า ทำอย่างที่เคยทำตามปกติ ทับทวีขึ้นไปเรื่อย ๆ เลย ทับทวีไปให้ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ ให้สุดรู้สุดญาณกันไปเลย 

 


                ส่วนพวกเราทุกคนก็เอาใจหยุดนิ่งตรงกลางอย่างสบาย ๆ นะ ใจนิ่งเฉย อย่าพูดอย่าคุยกันนะจ๊ะ เดี๋ยว เราเลิกแล้วเดี๋ยวเราค่อยไปคุยกัน ตอนนี้ให้ใจนิ่ง ๆ คุณยายทับทวีขึ้นไปเรื่อย ๆ ทับทวีเครื่องไทยธรรมขึ้นไปเรื่อย ๆ เลย ให้สุดรู้สุดญาณ สุดไปถึงไหนก็ทับทวีกันต่อไปเรื่อย ๆ ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลพระองค์ท่านให้ขอบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจ สิทธิของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ให้ถึงแก่พวกเรา ว่าด้วยอานุภาพแห่งบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจ สิทธิของพระธรรมกายพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์น่ะ ให้พวกเราทุกคนมีความสุข มีความเจริญ ให้แทงตลอดในวิชชาธรรมกาย ให้ได้บรรลุธรรมที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญได้บรรลุ 

 


                ให้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญจะได้ช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา เหมือนอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและมหาอุบาสิกาวิสาขา ขอให้ทุกท่านได้บรรลุธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง มีอายุยืนยาวได้สร้างบารมีกันไปนาน ๆ ประกอบธุรกิจการงานใด ๆ ก็ให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์ ให้เชื่อมสายสมบัติทุกอย่างถึงหมดทุกคนเลย ให้ซ้อนให้หนาแน่นให้เต็มไปให้หมดซ้อนหมดเลย ซ้อนทับทวีเข้าไปเรื่อย ๆ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าที่มีพระธรรมกายปรากฏอยู่กับพระองค์ ไม่ถ้วนน่ะ ว่าบ่ายนี้จะประกอบพิธีกลั่นแผ่นดินให้บริสุทธิ์ กลั่นใจให้บริสุทธิ์ ให้ประชุมพร้อมกันให้หมดเลยเนี่ย ให้ลงมาซ้อนให้เต็มหมดเลยทุกอณูทุกคนเลยให้ซ้อนเต็ม 

 


                เมื่อสวดมนต์ระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเนี่ยทำใจให้หยุดให้นิ่งก็ดีเนี่ย ให้มีอานุภาพบริสุทธิ์ กลั่นแผ่นดินนี้ให้เป็นที่ประดิษฐานธรรมกายเจดีย์ ให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติ เป็นศูนย์รวมใจของชาวโลกทั้งมวล เป็นที่พึ่งซึ่งใครมาแสวงบุญ ณ สถานที่นี้ให้ได้บุญอย่างมหาศาล นี่กราบทูลพระพุทธเจ้าให้บอกกันต่อ ๆ ไปขึ้นไปเรื่อย ๆ เลย เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตักตวงบุญกุศลให้เกิดขึ้น แล้วก็อธิษฐานจิตของเราให้ดีกันทุก ๆ คน อธิษฐานกันตามใจชอบเอานะจ๊ะ อธิษฐานแล้วก็เอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ 


 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02332110007604 Mins